มะเร็งปอด เป็นโรคที่สามารถพบได้ทั่วไปในทุกเพศ ส่วนใหญ่อาจนึกถึงภาพของคนที่สูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว แต่สำหรับผู้ชาย มีปัจจัยบางประการที่ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้น การรู้จักโรคนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมะเร็งปอดนั้นถือเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุดทั่วโลก ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะให้ความสำคัญ และใส่ใจในการดูแลสุขภาพมากขึ้น
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
การสูบบุหรี่
คือปัจจัยความเสี่ยงหลักของโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ระยะยาว รวมถึงความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่โดยตรง โดยอ้อม รวมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้า
สารเคมีและสารพิษ
การสัมผัสกับสารเคมี โดยเฉพาะแร่ใยหิน เรดอน แคดเมียม และสารเคมีในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
พันธุกรรม
ประวัติโรคมะเร็งปอดในครอบครัว โดยเฉพาะในบุคคลที่ไม่ได้สูบบุหรี่
โรคปอดเรื้อรัง
เช่น COPD หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
มลพิษและมลภาวะ
การหายใจรับสารพิษจากอากาศหรือมลพิษ โดยเฉพาะ PM2.5 หรือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็ก
การรับประทานอาหาร
เช่น อาหารที่ถูกย่างหรือเผาจนไหม้
การรับรังสี
คนที่ได้รับการฉายรังสีเพื่อการรักษามะเร็งประเภทอื่น ๆ มีความเสี่ยงสูงกว่าในการเกิดมะเร็งปอด
อาการของโรคมะเร็งปอด
อาจไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อโรคพัฒนาต่อไป ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการต่าง ๆ ออกมา บางครั้งอาการที่ปรากฏอาจเกิดจากผลกระทบต่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับปอด รวมไปถึง ข้อบวม หรือปัญหาทางประสาท อาการทั่วไปของมะเร็งปอด ได้แก่
- ไอยาวนาน หรือผิดปกติจากการไอโดยทั่วไป
- ไอเป็นเลือด เสมหะที่มีสีแดงหรือสีน้ำตาล
- หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียง
- ปวดหน้าอก โดยเฉพาะเวลาหายใจลึก ๆ หรือไอ
- น้ำหนักลด
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย หรือรู้สึกไม่สบาย โดยไม่ทราบสาเหตุ
- การติดเชื้อที่ปอดซ้ำ ๆ ไม่หายขาด
การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด
- แพทย์จะสอบถามถึงอาการ ประวัติการสูบบุหรี่ และประวัติการรักษา รวมถึงตรวจร่างกาย
- การ X-ray ปอด ช่วยตรวจสอบความผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงในปอด
- CT Scan ใช้ในการสร้างภาพส่วนต่าง ๆ ของปอดและอวัยวะใกล้เคียง
- การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อปอด (Biopsy) เพื่อตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ
- การตรวจเลือด
การรักษาโรคมะเร็งปอด
ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด สถานที่ ระยะของโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วย มีวิธีการดังนี้
- ศัลยกรรม การเอาเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งหรือส่วนของปอดออก
- การฉายรังสี ใช้รังสีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งหรือหยุดการเจริญเติบโตของมะเร็ง
- เคมีบำบัด ยาที่มีผลในการทำลายหรือฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย
- การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผลข้างเคียงน้อยลง
- การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ช่วยเพิ่มความสามารถของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง
- การรักษาผสมผสาน การใช้หลายวิธีการรักษาร่วมกัน เช่น เคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสี
การป้องกันโรคมะเร็งปอด
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากโรงงาน ควรใส่หน้ากากป้องกันหากทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น เคมีภัณฑ์ หรือสารเคมีที่เป็นพิษต่อปอดควรเรียนรู้และปฏิบัติตามขั้นตอนในการป้องกันการติดเชื้อ จากโรคติดเชื้อระบบหายใจ ปรับพฤติกรรมสุขภาพ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการป้องกันโรคทั่วไปรวมทั้งมะเร็งปอด
การเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด สามารถช่วยตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้น ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับมลพิษ และควบคุมคุณภาพอากาศภายในบ้าน เช่น การลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดควัน การใช้เครื่องฟอกอากาศ
ข้อสรุปสำคัญ
เมื่อพูดถึงสาเหตุของโรคมะเร็งปอดในผู้ชาย บางปัจจัยสามารถควบคุมได้ แต่บางปัจจัยก็อยู่เหนือการควบคุม หากพบว่ามีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็คอย่างละเอียด ยิ่งเร็วยิ่งดี เนื่องจากการรักษาในระยะเริ่มต้นสามารถเพิ่มโอกาสหายขาดมากขึ้น ทั้งนี้ ควรปรึกษาและวางแผนการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุด